เปตอง
ประวัติเปตอง
กีฬาชนิดนี้มีความเป็นมาอย่างไร และกติกาเปตอง มีวิธีการเล่นอย่างไร เรามีข้อมูลมาฝากคค่ะ
กีฬาเปตองเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่เรารู้จักกันดี และนิยมเล่นกันแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศไทย เนื่องจากกีฬาเปตองได้แพร่หลายเข้าสู่ระบบการศึกษาของไทย จากการถูกเลือกให้เป็นกิจกรรมนันทนาการในสถานศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนได้พิจารณาเห็นว่ากิจกรรมเปตองเป็นกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ ที่ส่งเสริมความสามัคคีและลดความเครียดจากภารกิจ หน้าที่การงานได้เป็นอย่างดี จึงทำให้กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เราจึงมีประวัติและกฏกติกาการเล่นกีฬาเปตองมาฝากกัน ว่าแต่จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
ประวัติกีฬาเปตองสากล
เปตองเป็นกีฬากลางแจ้งประเภทหนึ่งซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ประวัติที่แน่นอนนั้นไม่มีการบันทึกไว้ แต่มีหลักฐานจากการเล่าสืบต่อ ๆ กันมาว่า กำเนิดขึ้นครั้งแรกในประเทศกรีซ เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยเก็บก้อนหินที่เป็นทรงกลมจากภูเขาและใต้ทะเลมาเล่นกัน ต่อมากีฬาเปตองได้แพร่หลายเข้ามาในทวีปยุโรป เมื่ออาณาจักรโรมันครองอำนาจและเข้ายึดครองดินแดนของชนชาวกรีกได้สำเร็จ ชาวโรมันได้ใช้กีฬาประเภทนี้เป็นเครื่องทดสอบกำลังข้อมือและกำลังกายของผู้ชายในสมัยนั้น
เมื่ออาณาจักรโรมันเข้ายึดครองดิน แดนชาวโกลหรือประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ชาวโรมันก็ได้นำเอาการเล่นลูกบูลประเภทนี้เข้าไปเผยแพร่ทางตอนใต้ของประเทศ ฝรั่งเศส การเล่นลูกบูลจึงได้พัฒนาขึ้นโดยเปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็งถากเป็นรูปทรงกลม แล้วใช้ตะปูตอกรอบ ๆ เพื่อเพิ่มน้ำหนักของลูกให้เหมาะกับมือ
ในยุคกลาง การเล่นลูกบูลนี้เป็นที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศส ในสมัยพระเจ้านโปเลียนมหาราชขึ้นครองอำนาจ พระองค์ได้ทรงประกาศให้การเล่นลูกบูลนี้เป็นกีฬาประจำชาติของฝรั่งเศส และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้เล่นกัน การเล่นลูกบูลนี้จึงได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดมา จนมีการตั้งชื่อเกมกีฬาประเภทนี้ขึ้นมาเล่นอย่างมากมายต่าง ๆ กัน เช่น บูลเบร-รอตรอง, บูลลิโยเน่ส์, บูลเจอร์ เดอร์ลอง และบลู-โปรวังซาล เป็นต้น
ในที่สุดก็ฝรั่งเศสได้มีการก่อตั้ง "สหพันธ์ เปตองและโปรวังซาล" ขึ้นในปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) จากนั้นจำนวนสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีบุคคลทุกระดับชั้นทุกเพศ ทุกวัยเข้าเป็นสมาชิก ลูกบูลที่ใช้เล่นก็มีการคิดค้นทำเป็นลูกโลหะผสมเหล็กกล้า ข้างในกลวง การเล่นจึงมีความสนุกสนานเร้าใจยิ่งขึ้นกว่าเดิม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลที่ได้ดัดแปลงแก้ไขใหม่นี้ได้รับความนิยมเล่น มากขึ้น และได้แพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ อย่างรวดเร็วทั่วประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนถึงดินแดน อาณานิคมของฝรั่งเศสอีกด้วย
การเล่นกีฬาลูกบูลนี้ได้แบ่งแยกการเล่นออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. ลิโยเน่ล์
2. โปรวังชาล (วิ่ง 3 ก้าวแล้วโยน)
3. เปตอง (ที่นิยมเล่นในปัจจุบัน)
ประวัติกีฬาเปตองในประเทศไทย
กีฬาเปตองได้เริ่มเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ 2518 โดยการริเริ่มของ นายจันทร์ โพยหาญ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก และนำกีฬาเปตองเข้ามาเผยแพร่ให้คนได้รู้จักอย่างเป็นทางการคนแรก แต่ขณะนั้นยังขาดอุปกรณ์การเล่นเปตอง (ลูกบูล) จึงได้ปรึกษาและชักชวนนายดนัย ตรีทัศนาถาวร และนายชัยรัตน์ คำนวณ ซึ่งเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เป็นผู้ลงทุนสั่งลูกเปตองเข้ามาจำหน่ายและเผยแพร่ในประเทศไทย
แต่เปตองเป็นกีฬาที่ใหม่อยู่มากในเมืองไทย ยังมีคนรู้จักน้อย ทำให้ลูกเปตองยังจำหน่ายไม่ได้ แต่นายดนัย ซึ่งเป็นผู้ที่มองการไกล เห็นประโยชน์และความสำคัญของกีฬาเปตอง จึงได้ทำการจ่ายแจกให้แก่ส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ รวมทั้งภาคเอกชนที่สนใจทั่วไป เพื่อเป็นการเชิญชวนให้หันมาเล่นกีฬาประเภทนี้ดูบ้าง
ต่อมานายจันทร์ ได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากันนายศรีภูมิ สุขเนตร ซึ่งเป็นอดีตนักเรียนเก่าฝรั่งเศส ซึ่งมีความรู้ ความสามารถในเรื่องของกีฬาเปตองเป็นอย่างดี และอีกท่านยังไม่ได้กล่าวนาม ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมเปตองและโปรวังซาลแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519 โดยมีนายศรีภูมิ สุขเนตร เป็นนายกสมาคมคนแรก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะยังขาดผู้สนับสนุน จนคิดว่าจะล้มเลิกความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ต่อไปอีก
แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทรบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินที่เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เมื่อ พ.ศ. 2521 นายจันทร์ ได้นำอุปกรณ์กีฬาเปตองไปแนะนำวิธีการเล่นให้แก่ข้าราชบริพาร และพระองค์ทรงโปรดปรานมาก ทรงรับสั่งว่า "พระองค์เคยเล่นกีฬาประเภทนี้ตั้งแต่พระองค์พระชนมายุ 30 กว่า กีฬาเปตองมีประโยชน์มากได้ทั้งบริหารร่างกายเพื่อให้มีสุขภาพดี และสร้างสรรค์ความสามัคคีในหมู่คณะซึ่งมีประโยชน์มากมายสำหรับคนไทย ขอให้นายจันทร์ โพยหาญ จงทำหน้าที่ต่อไป พระองค์ช่วงส่งเสริม และเผยแพร่ให้อีกทางหนึ่ง"
ดังนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2527 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมเปตอง และโปรวังซาลแห่งประเทศไทย ไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2530 ได้เปลี่ยนชื่อสมาคมเปตองและโปรวังซาลเป็น "สหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ต่อมาได้แก้ไขข้อบังคับสหพันธ์ฯ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์เปตองแห่งประเทศไทยเป็น "สมาคมเปตองแห่งประเทศไทย" เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2543 และได้รับการรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนสมาคมฯ ประจำปีจากรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์เปตองนานาชาติ เป็นประเทศที่ 17 ของโลก
วิธีเล่นเปตอง
1. เปตองเป็นกีฬาที่เล่นได้กับสนามทุกสภาพ ยกเว้นพื้นคอนกรีตกับพื้นไม้ และพื้นดินที่มีหญ้าขึ้นสูง โดยมีคณะกรรมการจัดการแข่งขันหรือผู้ตัดสินเป็นผู้กำหนด ผู้เล่นทุกทีมต้องเล่นในสนามที่กำหนดให้สำหรับการแข่งขันชิงชนะเลิศระดับชาติและนานาชาติสนามต้องมีขนาดกว้าง 3.50 เมตร และยาว 13 เมตร เป็นอย่างน้อย แต่มีขนาดมาตรฐาน คือ 4 เมตร ยาว 15 เมตร เกมหนึ่งกำหนดให้ใช้ 13 คะแนน สำหรับการแข่งขันในรอบแรกและรอบต่อ ๆ ไป (จะใช้เพียง 11 คะแนนก็ได้) สำหรับชิงชนะเลิศในระดับนานาชาติหรือแห่งชาติให้ใช้ 15 คะแนน
2. ผู้เล่นทุกคนต้องลงสู่สนามแข่งขันตามเวลาที่กำหนด ให้ทำการเสี่ยงว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายโยนลูกเป้า
2.1 ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในทีม ซึ่งเป็นฝ่ายชนะในการเสี่ยงเป็นผู้โยนลูกเป้า เมื่อโยนแล้ว เลือกจุดเริ่มต้น แล้วให้เขียนวงกลมบนพื้นมีขนาดพอที่เท้าทั้งสองข้างเข้าไปยืนอยู่ได้ (เส้นผ่าศูนย์กลาง ระหว่าง 0.35-0.50 เมตร) วงกลมนั้นจะต้องห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นสนามไม่น้อยกว่า 1 เมตร สำหรับการแข่งขันในสภาพสนามที่ไม่มีขอบเขตของสนาม ให้เขียนวงกลมห่างจากวงกลมของสนามอื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร
2.2 ผู้ที่เตรียมเล่นจะต้องอยู่ภายในวงกลมห้ามเหยียบเส้นรอบวง ห้ามยกเท้าพ้นพื้น และห้ามออกจากวงกลมก่อนที่ลูกเปตองจะตกลงพื้นส่วนอื่นร่างกายจะถูกพื้นนอกวงกลมไม่ได้เว้นแต่คนขาพิการ ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้วางเท้าข้างเดียวในวงกลมได้ ส่วนนักกีฬาพิการที่ต้องนั่งรถเข็นให้ขีดวงกลมรอบล้อรถเข็นได้ และที่วางเท้าของรถเข็นต้องให้อยู่สูงเหนือขอบวงกลม
2.3 ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดในทีมซึ่งเป็นผู้โยนลูกเป้า ไม่บังคับว่าจะต้องเป็นผู้โยนลูกเปตองลูกแรกเสมอไป
2.4 ในกรณีที่สนามไม่ดี (ชำรุด) ห้ามผู้เล่นตกลงกันเองแข่งขันสนามอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสิน
3. ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถือว่าดีต้องมีกฎเกณฑ์ ดังนี้
3.1 มีระยะห่างระหว่างขอบวงกลมด้านใกล้ที่สุดถึงลูกเป้า
ก. ไม่น้อยกว่า 4 เมตร และไม่เกิน 8 เมตร สำหรับเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี)
ข. ไม่น้อยกว่า 5 เมตร และไม่เกิน 9 เมตร สำหรับเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 13-14 ปี)
ค. ไม่น้อยกว่า 6 เมตร และไม่เกิน 10 เมตร สำหรับเยาวชน (อายุไม่เกิน 15-17 ปี)
ง. ไม่น้อยกว่า 6 เมตร และไม่เกิน 10 เมตร สำหรับผู้ใหญ่ (ไม่จำกัดอายุ)
3.2 วงกลมต้องอยู่ห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นเขตสนาม หรือเส้นฟาล์วไม่น้อยกว่า 1 เมตร
3.3 ตำแหน่งลูกเป้าต้องอยู่ห่างจากสิ่งกีดขวางต่าง ๆ และเส้นเขตสนามไม่น้อยกว่า 1 เมตร
3.4 ลูกเป้าจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ขณะยืนตัวตรงอยู่ในวงกลม (ถ้ามีการโต้แย้งในกรณีนี้ให้ผู้ตัดสินเป็นผู้ชี้ขาด)
3.5 การโยนลูกเป้าในเที่ยวต่อ ๆ ไป ให้เขียนวงกลมรอบตำแหน่งลูกเป้าที่อยู่ในเที่ยวที่แล้วเว้นแต่กรณี ดังนี้
ก. วงกลมมีระยะห่างจากสิ่งกีดขวางและเส้นสนามน้อยกว่า 1 เมตร ในกรณีนี้ ผู้เล่นต้องเขียนวงกลมให้ห่างจากสิ่งกีดขวางและเส้นเขตสนามที่กติกาได้กำหนดไว้
ข. โยนลูกเป้าไม่ได้ระยะตามที่กติกากำหนดไว้ แม้จะโยนไปในทิศทางใดก็ตาม กรณีนี้ผู้เล่นสามารถถอยหลังได้ตามแนวตรง (ตั้งฉาก) จากตำแหน่งเดิมของลูกเป้าในเที่ยวที่แล้ว แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยน ตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาล์ว (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์ว ให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร)
ค. ลูกเป้าที่อยู่ในระยะการโยนหรือเล่นได้ แต่ผู้เล่นฝ่ายที่มีสิทธิ์โยนลูกเป้าไม่ประสงค์จะเล่นในระยะนั้น ๆ กรณีนี้ผู้เล่นสามารถถอยหลังตามแนวตรง (ตั้งฉาก) จากตำแหน่งจากเดิมของลูกเป้าในเที่ยวที่แล้วได้ตามความพอใจ แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยนตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาว์ล (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์ว ให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร)
ง. ผู้เล่นฝ่ายเดียวกันโยนลูกเป้าไปแล้ว 3 ครั้ง ยังไม่ได้ดีตามกติกากำหนด จะต้องเปลี่ยนให้ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามเป็นผู้โยนซึ่งมีสิทธิ์โยนได้ 3 ครั้งเช่นเดียวกัน และอาจย้ายวงกลมถอยหลังได้ตามแนวตรง (ตั้งฉาก) แต่ทั้งนี้วงกลมนั้นจะถอยหลังได้ไม่เกินระยะการโยน ตามที่กติกากำหนดไว้โดยให้นับจากเส้นฟาล์ว (Dead Bal Line) ด้านบนจนถึงเส้นขอบวงกลมด้านใกล้สุด (ถ้าไม่มีเส้นฟาล์วให้นับจากเส้นสนามด้านบนจนถึงขอบวงกลม ไม่เกิน 11 เมตร) วงกลมที่เขียนขึ้นใหม่นั้นจะเปลี่ยนแปลงอีกไม่ได้ แม้ว่าผู้เล่นของทีมหลังนี้จะโยนลูกเป้าไม่ดีทั้ง 3 ครั้ง ก็ตาม
จ. ถึงแม้ทีมที่โยนลูกเป้า 3 ครั้งแรกโยนได้ไม่ดีตามที่กติกากำหนดก็ตาม แต่ทีมที่โยนลูกเป้าครั้งแรกนั้นยังมีสิทธิ์เป็นฝ่ายโยนลูกเปตองลูกแรกอยู่
4. ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถูกผู้ตัดสิน ผู้เล่น ผู้ดู สัตว์หรือสิ่งที่เคลื่อนที่อื่น ๆ แล้วหยุด ให้นำมาโยนใหม่โดยไม่นับรวมอยู่ในการโยน 3 ครั้งที่ได้กำหนดไว้
4.1 หลังจากการโยนลูกเป้าและลูกเปตองลูกแรกไปแล้วฝ่ายตรงกันข้ามยังมีสิทธิ์ประท้วงว่าด้วยตำแหน่งของลูกเป้านั้นได้ ให้เริ่มโยนและลูกเปตองใหม่
4.2 ถ้าฝ่ายตรงกันข้ามได้โยนลูกเปตองไปด้วยแล้ว 1 ลูก ให้ถือว่าตำแหน่งลูกเป้านั้นดี และไม่มีสิทธิ์ประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น
5. ลูกเป้าที่โยนไปแล้วถือว่าฟาล์ว มี 5 กรณีดังนี้
5.1 เมื่อลูกเป้าที่โยนไปแล้วไม่ได้ตำแหน่งที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7
5.2 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ออกนอกเส้นฟาล์ว แต่ลูกเป้าคาบเส้นยังถือว่าดี ลูกเป้าที่ถือว่าฟาล์ว คือลูกเป้าที่ออกเส้นฟาล์วเท่านั้น
5.3 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไปแล้ว ผู้เล่นไม่สามารถมองเห็นจากวงกลมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7.4 แต่ถ้าลูกเป้าถูกลูกเปตองบังอยู่ไม่ถือว่าฟาล์ว ทั้งผู้ตัดสินมีสิทธิ์ที่จะยกลูกเปตองที่บังอยู่ออกชั่วคราวเพื่อตรวจสอบว่า ลูกเป้านั้นมองเห็นได้ชัดเจนหรือไม่
5.4 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไป มีระยะห่างจากวงกลมเกินกว่า 20 เมตร หรือน้อยกว่า 3 เมตร
5.5 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่ไปแล้ว หาไม่พบภายใน 5 นาที
6. ก่อนหรือหลังการโยนลูกเป้า ห้ามผู้เล่นปรับพื้นที่หรือเคลื่อนย้ายสิ่งต่าง ๆ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ใบไม้ ฯลฯ ในบริเวณสนามแข่งขันโดยเด็ดขาด เว้นแต่ผู้เตรียมตัวจะลงเล่นเท่านั้นที่มีสิทธิ์ปรับสนามที่มีหลุมซึ่งเกิดจากการโยนลูกเปตองของผู้เล่นคนที่แล้ว และอาจใช้ลูกเปตองปรับหลุมนั้นได้ไม่เกิน 3 ครั้ง ผู้เล่นที่ฝ่าฝืนกฎต้องลงโทษดังนี้
6.1 ถูกเตือน
6.2 ปรับลูกที่เล่นไปแล้วหรือลูกที่กำลังจะเล่นเป็นลูกฟาล์ว
6.3 ปรับเฉพาะผู้กระทำผิด ให้งดเล่น 1 เที่ยว
6.4 ปรับเป็นแพ้ทั้งทีม
6.5 ปรับให้แพ้ทั้ง 2 ทีม ถ้ากระทำผิดเหมือนกัน หรือสมรู้ร่วมคิดกัน
7. ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยว หากมีใบไม้ กระดาษหรือสิ่งอื่น ๆ มาบังลูกเป้าโดยบังเอิญให้เอาออกได้
7.1 เมื่อลูกเป้าหยุดนิ่งแล้วและเคลื่อนที่ไปใหม่โดยแรงลมพัดหรือจากการลาดเอียงของพื้นสนาม จะต้องนำกลับมาวางที่ตำแหน่งเดิม
7.2 เมื่อลูกเป้าเคลื่อนที่โดยอุบัติเหตุอันเกิดขึ้นจากผู้ตัดสิน ผู้ดู สัตว์ สิ่งเคลื่อนที่อื่น ๆ รวมทั้งลูกเป้าหรือลูกเปตองที่เคลื่อนที่มาจากสนามอื่นให้นำลูกเป้านั้นมาวางที่ตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ต้องเครื่องหมายกำหนดจุดเดิมของลูกเป้า
7.3 เพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงทั้งปวง ผู้เล่นควรทำเครื่องหมายบนพื้นสนามตามตำแหน่งของลูกเป้าหรือลูกเปตองไว้มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น
7.4 ลูกเป้าที่อยู่บนพื้นสนามซึ่งมีน้ำขังอยู่ถือว่าดี หากลูกเป้านั้นยังไม่ลอยน้ำ
8. ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยวหากลูกเป้าเคลื่อนที่ไปอยู่อีกสนามหนึ่ง ให้ถือว่าลูกเป้านั้นยังดีอยู่
8.1 ถ้าสนามนั้นมีการแข่งขันอยู่ ฝ่ายที่ต้องใช้ลูกเป้านั้นจะต้องหยุดรอเพื่อคอยให้ผู้เล่นที่กำลังเล่นอยู่ในสนามนั้นเล่นจบก่อน
8.2 ผู้เล่นที่มีปัญหาตามข้อ 12.1 จะต้องแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ความอดทน และความเอื้ออารีต่อกัน
9. ในระหว่างการเล่นแต่ละเที่ยว ถ้าลูกเป้าเกิดฟาล์วให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อยดังนี้
9.1 ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายมีลูกเปตองเหลืออยู่ การเล่นเที่ยวนั้นถือว่าโมฆะ ต้องเริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้าม
9.2 ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีลูกเปตองเหลืออยู่เพียงฝ่ายเดียวฝ่ายนั้นจะได้คะแนนเท่ากับจำนวนลูกเปตองที่เหลืออยู่โดยไม่ต้องเล่นและจะเริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้าม
9.3 ถ้าทั้งสองฝ่ายหมดลูกเปตองเหมือนกัน ให้เริ่มเล่นใหม่ที่ด้านตรงข้ามโดยให้ทีมที่คะแนนเที่ยวที่เป็นฝ่ายโยนลูกเป้า
10. ลูกเป้าที่ถูกยิงแล้วเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม
10.1 ถ้าลูกเป้าที่ยิงแล้วเคลื่อนที่ไปถูกผู้ดูหรือผู้ตัดสินแล้วหยุด ให้ลูกเป้านั้นอยู่ในตำแหน่งใหม่
10.2 ถ้าลูกเป้าที่ยิงแล้วเคลื่อนที่ไปถูกผู้เล่นคนหนึ่งคนใดแล้วหยุด ฝ่ายตรงข้ามที่ทำให้ลูกเป้าหยุด มีสิทธิ์เลือกปฏิบัติตามกฎข้อย่อย ดังนี้
ก. ให้ลูกเป้าอยู่ในตำแหน่งใหม่
ข. นำลูกเป้ามาวางที่ตำแหน่งเดิม
ค. วางลูกเป้าตามแนวยาวระหว่างตำแหน่งเดิมกับตำแหน่งใหม่แต่ต้องอยู่ใหม่แต่ ต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในกติกาแล้วเริ่มเล่นต่อไปตามปกติ
การวัดระยะและการวัดคะแนน
1. ในการวัดคะแนนอนุญาตให้โยกย้ายลูกเปตองที่เกี่ยวข้องได้แต่ต้องทำเครื่องหมายที่มีตำแหน่งสิ่งนั้น ๆ ไว้ก่อนโยกย้าย เมื่อการวัดคะแนนเสร็จสิ้นลง ให้นำทุกสิ่งที่โยกย้ายไปนั้นกลับมาวางที่ตำแหน่งเดิมทั้งหมดถ้าสิ่งกีดขวางที่มีปัญหานั้นไม่อาจโยกย้ายได้ให้ใช้วงเวียนทำการวัด
2. ในการวัดคะแนนระหว่างลูกเปตอง 2 ลูก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันมาก ผู้เล่นคนหนึ่งได้วัดไปแล้ว และบอกว่าตนได้ ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามมีสิทธิ์ที่จะวัดใหม่ เพื่อความแน่ใจและถูกต้อง (ส่วนอุปกรณ์การวัดที่ต้องเป็นอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน ห้ามวัดโดยการนับระยะเท้า) เมื่อทั้งสองฝ่ายได้คะแนนแล้วหลายครั้งยังตกลงกันไม่ได้ต้องให้ผู้ตัดสินเป็นผู้วัดเพื่อตัดสิน และผลการตัดสินถือเป็นที่สิ้นสุด และหากผู้เล่นเป็นฝ่ายฝ่าฝืนกติกาข้อนี้ให้ผู้ตัดสินตักเตือน 1 ครั้ง หากยังฝ่าฝืนอีกให้ปรับเป็นแพ้
3. เมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันแต่ละเที่ยวลูกเปตองทุกลูกที่ถูกนำออกก่อนการวัดคะแนน ให้ถือว่าเป็นลูกฟาล์วและไม่มีสิทธิ์โต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น
4. ถ้าผู้เล่นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำการวัดคะแนนแล้ว ไปทำให้ลูกเป้าหรือเปตองที่มีปัญหานั้นเคลื่อนที่ จะต้องเป็นฝ่ายเสียคะแนนนั้นและในการวัดแต่ละครั้งต้องให้ผู้เล่นของทีมที่ทำให้ลูกเปตองเกิดปัญหาทำการวัดทุกครั้ง ในการวัดคะแนนแต่ละครั้ง ก่อนทำการวัดผู้ตัดสินต้องทำการคาดคะเนเสียก่อนว่าลูกใดเปรียบและถ้าได้วัดไปแล้ว บังเอิญผู้ตัดสินไปทำให้เปตองหรือลูกเป้าเคลื่อนที่ผู้ตัดสินจะต้องทำการวัดใหม่ และภายหลังการวัดปรากฏว่าลูกเปตองที่คาดคะเนว่าชนะยังคงชนะอยู่ให้กรรมการตัดสินตามความเป็นจริงถ้าการวัดครั้งใหม่แล้วปรากฏว่าลูกเปตองที่คาดคะเนว่าจะชนะกลับแพ้ ให้ผู้ตัดสินตัดสินด้วยความเที่ยงธรรม
5. ในกรณีที่ลูกเปตองของทั้งสองฝ่ายมีระยะห่างจากลูกเป้าเท่ากันหรือติดกับลูกเป้าทั้ง 2 ลูกให้ปฏิบัติตามกฎข้อย่อย ดังนี้
5.1 ถ้าทั้งสองฝ่ายหมดลูกเปตองเล่นแล้ว การเล่นเที่ยวนั้นถือว่าเป็นโมฆะ จะต้องเริ่มเล่นใหม่ด้านตรงข้าม โดยผู้เล่นฝ่ายที่ได้คะแนนในเที่ยวที่แล้ว เป็นผู้โยนลูกเป้า
5.2 ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีลูกเปตองเหลือเล่นอยู่เพียงฝ่ายเดียว ฝ่ายนั้นจะต้องเล่นจนหมดลูกเปตองเพื่อทำคะแนนเพิ่มเติมตามจำนวนลูกเปตองที่อยู่ใกล้เป้ามากที่สุด
5.3 ถ้าทั้งสองฝ่ายยังมีลูกเปตองเหลืออยู่ ฝ่ายที่โยนลูกเปตองทีหลังจะต้องเป็นฝ่ายเล่นลูกต่อไป ถ้าลูกเปตองทั้งสองฝ่ายยังเสมอกันอยู่ต้องเปลี่ยนให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เล่นและต้องสลับกันโยนฝ่ายละ 1 ลูก จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้คะแนนแล้วเล่นต่อไปตามปกติ
6. หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกาะติดกับลูกเปตองหรือลูกเป้าจะต้องเอาสิ่งนั้นออกก่อนการวัดคะแนนทุกครั้ง
7. การเสนอข้อประท้วงต่อผู้ตัดสินจะกระทำได้ในระหว่างการแข่งขันแต่ละเกมเท่านั้น เมื่อเกมการแข่งขันเท่านั้น เมื่อเกมการแข่งขันนั้น ๆ ได้สิ้นสุดลงจะไม่มีประท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน ผู้เล่นทุกคนต้องคอยระมัดระวังการละเมิดกติกาของฝ่ายตรงข้ามบัตรประจำตัวนักกีฬา-รุ่นของผู้เล่นสนามแข่งขัน มาตรฐานของลูกเปตอง เป็นต้น
8. ในขณะทำการจับสลากและการประกาศผลการจับสลาก ผู้เล่นทุกคนต้องอยู่พร้อมกันที่โต๊ะอำนวยการ หลังจากการประกาศผลไปแล้ว 15 นาที ทีมที่ไม่ลงสนามแข่งขันจะถูกปรับเสียคะแนนให้แก่ฝ่ายตรงข้าม 1 คะแนน
8.1 หากเกินกำหนดเวลา 15 นาทีไปแล้ว การปรับคะแนนจะทวีเพิ่มขึ้น 1 คะแนน ทุก ๆ 5 นาที
8.2 บทลงโทษตามข้อ 32 จะมีผลบังคับหลังจากการประกาศให้เริ่มการแข่งขันทุกครั้ง
8.3 หลังจากการประกาศการแข่งขันได้ผ่านพ้นไปแล้ว 1 ชั่วโมงทีมที่ยังไม่ได้ลงทำการแข่งขันจะถูกปรับให้เป็นผู้แพ้ในเกมนั้น
8.4 ทีมที่มีผู้เล่นไม่ครบจำนวน ต้องลงทำการแข่งขันตามเวลาที่กำหนดโดยไม่อนุญาตให้รอผู้ร่วมทีมที่มาล่าช้าและจะเล่นลูกเปตองได้ตามจำนวนที่ผู้เล่นมีสิทธิเท่านั้น (ตามประเภทที่แข่งขัน)
9. เมื่อมีการแข่งขันในเที่ยวนั้นได้เริ่มเล่นไปแล้ว ผู้เล่นที่มาล่าช้าไม่มีสิทธิ์ลงเล่นในเที่ยวนั้น แต่อนุญาตให้ลงเล่นในเที่ยวต่อไปได้
9.1 เมื่อการแข่งขันในเกมนั้นได้ดำเนินไปแล้ว 1 ชั่วโมง ผู้เล่นที่มาล่าช้าหมดสิทธิ์ลงทำการแข่งขันในเกมนั้น
9.2 ถ้าการแข่งขันนั้นแบ่งเป็นสาย จะอนุญาตให้ผู้เล่นที่มาล่าช้าลงแข่งขันในเกมที่ 2 ได้ ไม่ว่าผลการแข่งขันในเกมแรกจะแพ้หรือชนะก็ตาม
9.3 หากทีมที่มีผู้เล่นไม่ครบจำนวนสามารถชนะการแข่งขันในเกมนั้นจะอนุญาตให้ผู้เล่นที่มาเล่นช้าลงแข่งขันในเกมต่อไปได้ แต่ต้องเป็นผู้เล่นของทีมนั้น และต้องมีชื่อถูกต้องในในสมัครด้วย
9.4 การแข่งขันแต่ละเที่ยวจะถือว่าเริ่มขึ้นแล้วก็ต่อเมื่อลูกเป้าที่โยนไปในสนามนั้น ได้ตำแหน่งถูกต้องตามกติกา
10. การเปลี่ยนตัวผู้เล่นจะอนุญาตให้กระทำได้ก่อนจับสลากการแข่งขันเท่านั้น และต้องเป็นผู้เล่นที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในทีมอื่นของการแข่งขันเดียวกัน
11. ในระหว่างการแข่งขันหากมีฝนตก ให้แข่งขันต่อไปจนจบเที่ยวเว้นแต่มีเหตุผลสุดวิสัย ไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ ผู้ตัดสินและผู้ชี้ขาดเท่านั้นที่มีอำนาจให้หยุดการพักการแข่งขันชั่วคราวหรือยกเลิกการแข่งขัน
11.1 หลังจากการประกาศเพื่อเริ่มต้นการแข่งขันในรอบใหม่แล้ว รอบสองหรือรอบต่อ ๆ ไป หากยังมีบางทีมและบางสนามยังแข่งขันไม่เสร็จ ผู้ตัดสินอาจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ดีตนเห็นสมควร ด้วยความเห็นชอบคณะกรรมการจัดการแข่งขันเพื่อให้การแข่งขันนั้นดำเนินไปด้วยดี
11.2 ในระหว่างการแข่งขัน ผู้เล่นทุกคนจะออกไปจากสนามต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตัดสินเสียก่อน มิฉะนั้นจะถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้ในข้อ 32. และ 33.
12. ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ หรือรอบอื่น ๆ ก็ตาม ห้ามผู้เล่นทั้งสองฝ่ายสมยอมกันหรือแบ่งรางวัลกันโดยเด็ดขาด ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายสมยอมกันหรือแบ่งรางวัลกันโดยเด็ดขาด ถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายแข่งขันกันไม่สมศักดิ์ศรี เป็นการหลอกลวงผู้ดู ผู้ควบคุมทีม และผู้เล่นทั้งสองทีมจะถูกลงโทษให้ออกจากการแข่งขัน และผลการแข่งขันที่ผ่านมาก่อนหน้านั้นก็ให้ถือโมฆะด้วย นอกจากนั้นแล้วผู้เล่นทั้งสองทีมจะต้องถูกพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดไว้ข้อ 11. อีกด้วย
13. ผู้เล่นที่มีพฤติกรรมอันเป็นการผิดมารยาทอย่างรุนแรงต่อผู้ควบคุมทีม ผู้ตัดสิน ผู้เล่นคน อื่น ๆ หรือผู้ดู จะถูกลงโทษตามสภาพความผิดดังนี้
ก. ให้ออกจากการแข่งขัน
ข. ถอนใบอนุญาต (บัตรประจำตัวนักกีฬา)
ค. งดให้รางวัลหรือเงินรางวัล
14. ผู้ตัดสินทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสหพันธ์ฯ เปตองนานาชาติหรือสมาคมเปตองแห่งประเทศไทย ฯ มีหน้าที่คอยควบคุมดูแลให้การแข่งขันดำเนินไปอย่างมีระเบียบและถูกต้องตามกติกาอย่างเคร่งครัด และมีอำนาจให้ผู้เล่นทุกคน หรือทุกทีมที่ปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินออกจากการแข่งขันได้
15. หากกรณีอื่นใดที่มิได้กำหนดไว้ในกติกาข้อนี้เป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินที่จะต้องขอความร่วมมือจากคณะกรรมการชี้ขาดการแข่งขันครั้งนั้นเพื่อพิจารณาตัดสินผู้ชี้ขาดตามสมควรแก่กรณี (คณะกรรมการชี้ขาดประกอบด้วยกรรมการ 3 หรือ 5 คน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น