กีฬาวอลเลย์บอลหญิงถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1895 โดยนายวิลเลียม จี. มอร์แกน และนายเจมส์ ไนท์สมิธ ผู้อำนวยการฝ่ายพลศึกษาของสมาคม Y.M.C.A. เมืองฮอลโยค รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศอเมริกา ซึ่งได้เกิดขึ้นเพียง 1 ปี ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ครั้งที่ 1 ณ กรุงเอเธนส์ โดยเขามีความคิดที่ต้องการให้มีกีฬาสำหรับเล่นในช่วงฤดูหนาวแทนกีฬากลางแจ้งเพื่อออกกำลังกายพักผ่อนหย่อนใจยามหิมะตก

เขาได้เกิดแนวความคิดที่จะนำลักษณะและวิธีการ เล่นของกีฬาเทนนิสมาดัดแปลงใช้เล่น จึงใช้ตาข่ายเทนนิสซึ่งระหว่างเสาโรงยิมเนเซียม สูงจากพื้นประมาณ 6 ฟุต 6 นิ้ว และใช้ยางในของลูกบาสเกตบอลสูบลมให้แน่น แล้วใช้มือและแขนตีโต้ข้ามตาข่ายกันไปมา แต่เนื่องจากยางในของลูกบาสเกตบอลเบาเกินไป ทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่ช้าและทิศทางที่เคลื่อนไปไม่แน่นอน จึงเปลี่ยนมาใช้ลูกบาสเกตบอล แต่ลูกบาสเกตบอลก็ใหญ่ หนักและแข็งเกินไป ทำให้มือของผู้เล่นได้รับบาดเจ็บ
จนในที่สุดเขาจึงให้บริษัท Ant G. Spalding and Brother Company ผลิตลูกบอลที่หุ้มด้วยหนังและบุด้วยยาง มีเส้นรอบวง 25-27 นิ้ว มีน้ำหนัก 8-12 ออนซ์ หลังจากทดลองเล่นแล้ว เขาจึงชื่อเกมการเล่นนี้ว่า "มินโทเนตต์" (Mintonette)
ค.ศ.1896 ได้มีการประชุมสัมมนาผู้นำทางพลศึกษาที่วิทยาลัยสปริงฟิลด์ (Spring-field College) นายวิลเลียม จี มอร์แกน ได้สาธิตวิธีการเล่นต่อหน้าที่ประชุมหลังจากที่ประชุมได้ชมการสาธิต ศาสตราจารย์ อัลเฟรด ที เฮลสเตด (Alfred T. Helstead) ได้เสนอแนะให้มอร์แกนเปลี่ยนจากมินโทเนตต์ (Mintonette) เป็น "วอลเลย์บอล" (Volleyball) โดยให้ความเห็นว่าเป็นวิธีการเล่นโต้ลูกบอลให้ลอยข้ามตาข่ายไปมาในอากาศ โดยผู้เล่นพยายามไม่ให้ลูกบอลตกพื้น
ค.ศ. 1928 ดร.จอร์จ เจ ฟิเชอร์ (Dr. George J. Fisher) ได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงกติกาการเล่นวอลเลย์บอลหญิง เพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลในระดับชาติ และได้เผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลจนได้รับสมญานามว่า บิดาแห่งกีฬาวอลเลย์บอล

การเข้ามาในประเทศไทย[แก้]

วอลเลย์บอลได้แพร่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงไหนนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ชาวไทยบางกลุ่มเริ่มเล่นและแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปี 2477 กรมพลศึกษาได้จัดพิมพ์กติกาเผยแพร่โดยอาจารย์นพคุณ พงษ์สุวรรณซึ่งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาประจำปีและบรรจุกีฬาวอลเลย์บอลหญิงเข้าไว้ในรายการแข่งขันเป็นครั้งแรกโดยใช้กติกาการเล่นระบบ 9 คน และตั้งแต่นั้นมากีฬาวอลเลย์บอลก็พัฒนาขึ้นมาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปี 2500 ได้มีการประชุมหารือพิจารณาจัดตั้งสมาคมขึ้นมารับผิดชอบ จนกระทั่งมีการจัดตั้งสมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (Amateur Volleyball Association of Thailand) อย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนระบบการแข่งขันเป็น 6 คน และต่อมาได้บรรจุเข้าในหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเมื่อปี 2521 หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปี 2524[1]

องค์กรบริหารกีฬาวอลเลย์บอล[แก้]

สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย (อังกฤษThailand Volleyball Association) เป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ สำหรับบริหารกิตติกีฬาวอลเลย์บอลของไทย ทำหน้าที่จัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลอย่างเป็นทางการ ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด และให้การสนับสนุนวอลเลย์บอลทีมชาติของไทย สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กีฬาวอลเลย์บอลของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งระดับทวีปและระดับโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก กรุงเทพมหานคร
สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย (อังกฤษAsian Volleyball Confederation (AVC)) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เอวีซี เป็นองค์กรกีฬาระดับทวีป สำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอลในทวีปเอเชียและเขตโอเชียเนีย ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชียเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ (ฝรั่งเศสFédération Internationale de Volleyball (FIVB)) หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า เอฟไอวีบี เป็นองค์กรกีฬาระดับโลก เป็นองค์กรสูงสุดสำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอล ทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สนาม[แก้]

  • ขนาดสนาม ยาว 18 เมตร กว้าง 9 เมตร ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งแดนด้วยตาข่าย ทำให้เกิดพื้นที่แดนละ 9×9 เมตร
  • พื้นที่โล่ง พื้นที่โล่งเหนือสนามควรสูงอย่างน้อย 7 เมตร แต่แนะนำที่สูง 8 เมตร ส่วนพื้นที่โล่งรอบสนามควรกว้างอย่างน้อย 3 เมตรขึ้นไป ในการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดพื้นที่โล่งเหนือสนามที่ 12.5 เมตร ด้านข้าง 5 เมตร ด้านหลัง 6.5 เมตร
  • สีพื้นสนาม สีพื้นสนามต้องเป็นสีอ่อนและสีแตกต่างกับพื้นที่โล่งรอบสนาม
  • ตาข่าย กว้าง 1 เมตร ขึงเหนือเส้นกลางสนาม แถบบนของตาข่ายกว้าง 7 ซม.
    • ประเภทชาย ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.43 เมตร (8 ฟุต)**ประเภทหญิง ส่วนบนของตาข่ายจะสูงจากพื้นสนาม 2.24 เมตร (7 ฟุต 4 นิ้ว)
  • เส้นขอบสนาม เป็นเส้นสีขาวรอบพื้นที่สนาม กว้าง 2 นิ้ว (5 ซม.) ประกอบด้วยเส้นข้างและเส้นหลัง ถือเป็นเส้นแสดงขอบเขตและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สนาม
  • เส้น 3 เมตร เป็นเส้นที่ขนานกับตาข่าย โดยห่างจากตาข่าย 3 เมตรทั้งสองแดน เส้นนี้จะแบ่งแดนแต่ละฝั่งออกเป็นแดนหน้ากับแดนหลัง เป็นเส้นกำหนดขอบเขตการโจมตีของผู้เล่นแดนหลัง
  • เส้นจำกัดขอบเขตผู้ฝึกสอน เป็นเส้นประที่วาดต่อจากเส้นรุกออกไปด้านข้างยาว 1.75 เมตร แล้วจึงลากตั้งฉากโดยขนานไปกับเส้นข้างจนสุดเส้นหลังของสนาม
  • เสาอากาศ เป็นเสาที่ติดอยู่ข้างตาข่ายทั้ง 2 ด้านและอยู่เหนือเส้นข้างของสนาม เสาสูง 1.8 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 10 มม. เสาอากาศมักมีแถบสีแดงสลับขาว เสาอากาศจะยื่นขึ้นไปด้านบนนับจากด้านบนตาข่าย 80 ซม. เพื่อแสดงสมมติฐานแนวเพดานของเส้นข้าง บอลจะข้ามตาข่ายอย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อบอลผ่านระหว่างเสาอากาศทั้ง 2 ด้านและไม่สัมผัสโดนเสาอากาศ
  • อุณหภูมิ อุณหภูมิภายในสนามไม่ควรต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ส่วนการแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดอุณหภูมิอยู่ในช่วง 16–25 องศาเซลเซียส
  • แสง การแข่งขันระดับโลกหรือที่เป็นทางการมักกำหนดที่ 1,000–1,500 ลักซ์โดยวัดที่ระดับจากพื้นสนามขึ้นมา 1 เมตร

บอล[แก้]

สนามวอลเลย์บอล
สหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ กำหนดว่าบอลต้องมีลักษณะทรงกลม ทำจากหนังหรือหนังสังเคราะห์ มีเส้นรอบวง 65–67 ซม. หนัก 260–280 กรัม และแรงดันภายใน 0.30–0.325 กก./ตร.ซม. โดยอาจเป็นสีเดียวหรือหลากสีประกอบกัน

ผู้เล่น[แก้]

ผู้เล่นในสนามมี 2 ทีม ทีมละ 6 คน แดนหลังประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 5, 6 และ 1 ส่วนแดนหน้าประกอบด้วยผู้เล่นในตำแหน่งที่ 4, 3 และ 2 โดยนับจากซ้าย(ดังรูป) ตำแหน่งที่ 1 คือ ตำแหน่งผู้เล่นเสิร์ฟ
  • ตัวตั้ง หรือ ตัวเซ็ต (Setter) มักต่อบอลในบอลที่สองโดยการตั้งบอลไปยังตัวรุกเพื่อทำคะแนน ตัวเซ็ตต้องมีลักษณะที่ปราดเปรียวว่องไว ไหวพริบดี มียุทธวิธีในการเลือกตัวรุกเพื่อทำคะแนน
  • ตัวบล็อกกลาง หรือ ตัวตีกลาง (Middle blocker / Middle hitter) คือผู้เล่นที่สามารถรุกได้อย่างรวดเร็วโดยมักอยู่ใกล้ตัวเซ็ต รวมทั้งมีการบล็อกที่ดี นอกจากนี้ยังต้องสามารถขึ้นบล็อกคู่ด้านข้างของสนามได้เป็นอย่างดี แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
  • ตัวตีด้านนอก หรือ ตัวตีด้านซ้าย (Outside hitter / Left side hitter) บางครั้งเรียกว่า ตัวตีหัวเสา ทำหน้าที่บุกจากเสาอากาศด้านซ้าย มักจะเป็นตัวตบที่คงเส้นคงวาที่สุดของทีมและมักจะได้บอลจากตัวเซ็ตมากที่สุด กรณีรับบอลแรกไม่เข้าจุด ตัวเซ็ตจำเป็นต้องเซ็ตลูกโด่ง ท้ายที่สุดมักจะเซ็ตบอลมาให้ตำแหน่งนี้ แต่ละทีมมักจะมีผู้เล่นตำแหน่งนี้ 2 คน
  • ตัวตีตรงข้าม หรือ ตัวตีด้านขวา (Opposite hitter / Right side hitter) รับหน้าที่เป็นแนวหน้าปกป้องเกมรุกของคู่แข่งเป็นหลัก อยู่บริเวณเสาอากาศด้านขวา โดยคอยบล็อกตัวตีด้านซ้ายของคู่แข่ง และยังเป็นดั่งตัวเซ็ตสำรองด้วย
  • ตัวรับอิสระ หรือ ลิเบโร (Libero) คือผู้เล่นที่ชำนาญเกมรับเป็นพิเศษและไม่จำเป็นต้องตัวสูง ถือเป็นตัวที่ต่อบอลได้ดีที่สุดของทีม และจะต้องสวมชุดที่ต่างจากผู้เล่นคนอื่นในทีม ลิเบโรไม่มีสิทธิ์บล็อกหรือตีบอลขณะบอลอยู่เหนือตาข่ายได้ เมื่อเกมหยุด ลิเบโรสามารถเปลี่ยนตัวกับผู้เล่นแดนหลังได้โดยไม่ต้องแจ้งผู้ตัดสินและจะไม่นับรวมว่าเป็นการเปลี่ยนตัวของทีม ลิเบโรสามารถเซ็ตบอลเหนือศีรษะคล้ายตัวเซ็ตได้ก็ต่อเมื่อยืนอยู่หลังเส้นรุกเท่านั้น นอกจากนี้ลิเบโรไม่มีสิทธิ์เสิร์ฟบอล (ยกเว้นในบางองค์กร เช่น NCAA อนุญาตให้เสิร์ฟได้)

การเล่น[แก้]

ตำแหน่งผู้เล่นวอลเลย์บอล
  • กรรมการผู้ตัดสินจะเสี่ยงเหรียญเพื่อหาทีมที่จะได้เลือกระหว่าง เสิร์ฟ/รับเสิร์ฟ หรือเลือกแดน โดยจะทำการเสี่ยงเหรียญในเซ็ตแรกและเซ็ตตัดสิน
  • ผู้เสิร์ฟ จะต้องเสิร์ฟจากด้านหลังของสนามโดยยืนไม่เลยแนวเส้นข้างและห้ามเหยียบเส้นหลัง โยนบอลและตีกลางอากาศให้บอลข้ามตาข่ายไปยังแดนของคู่แข่งภายใน 8 วินาทีหลังกรรมการให้สัญญาณ
  • ขณะที่มีการเสิร์ฟโดยถูกกติกา แต่มีผู้เล่นยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้น ทีมที่ยืนผิดตำแหน่งจะเสียคะแนน แต่หากคนเสิร์ฟทำผิดกติกาแม้จะมีการยืนผิดตำแหน่งในขณะนั้นก็จะถือว่าทีมที่เสิร์ฟเป็นฝ่ายเสียคะแนน
  • ห้ามผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟทำการบล็อกหรือตบบอลที่ถูกเสิร์ฟมา
  • บอลสามารถสัมผัสตาข่ายได้ทั้งในการเสิร์ฟและระหว่างเล่น แต่ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์สัมผัสตาข่ายในขณะที่บอลยังถูกเล่นอยู่ตามกติกา
  • เมื่อเสิร์ฟบอลข้ามตาข่าย แล้วบอลลงในแดนคู่แข่งทันที หรือคู่แข่งพยายามรับบอลจนบอลออกนอกสนามไป เรียกว่า เอซ (Ace) ทีมที่เสิร์ฟจะได้คะแนนนั้น
  • ผู้เล่นทีมรับเสิร์ฟ จะต้องพยายามรับบอลแรกโดยไม่ปล่อยให้บอลตกลงพื้นในแดนของตน และต่อบอลไปยังผู้เล่นที่เรียกว่าตัวเซ็ต เพื่อตั้งบอลให้กับผู้เล่นที่จะตีบอลรุกไปยังแดนตรงข้ามเพื่อทำคะแนน เมื่อบอลตกลงพื้นหรือเกิดความผิดพลาดต่างๆ จะถือว่าการเล่นคะแนนนั้นได้สิ้นสุดลง
  • ผู้เล่นแต่ละทีม มีสิทธิ์ต่อบอลได้ไม่เกิน 3 ครั้งก่อนตีไปยังแดนคู่แข่ง (ไม่นับรวมการบล็อก) โดยผู้เล่นแต่ละคนไม่มีสิทธิ์ต่อบอลติดต่อกัน 2 ครั้ง ยกเว้นมีผู้เล่นคนอื่นมาต่อบอลคั่นก่อน 1 ครั้งจึงจะต่อบอลได้อีก
  • ผู้เล่นตำแหน่งแดนหลังและลิเบโร ไม่มีสิทธิ์กระโดดตีบอลหรือบล็อกบอลได้ ยกเว้นผู้เล่นแดนหลังกระโดดมาจากหลังเส้น 3 เมตรเพื่อตีบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ใช้ผู้เล่นคนอื่นในการส่งตัวเองเพื่อให้เข้าถึงบอล
  • ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์เล่นบอลหากบอลยังอยู่ในแดนของคู่แข่ง
  • เมื่อบอลสัมผัสพื้นสนามหรือมีความผิดพลาดในการเล่น ฝ่ายที่ไม่ได้ทำผิดพลาดจะได้คะแนนนั้นไป และทีมที่ได้คะแนนจะต้องเป็นฝ่ายเสิร์ฟในคะแนนต่อไป
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟสามารถทำคะแนนได้ ผู้ที่เสิร์ฟในคะแนนถัดไปต้องเป็นผู้เล่นในตำแหน่งเดิม แต่สามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นมาเสิร์ฟได้
  • เมื่อทีมที่เสิร์ฟเสียคะแนนนั้น ผู้เล่นอีกฝ่ายจะได้สิทธิ์เสิร์ฟคะแนนถัดไปแทน แต่ต้องหมุนตำแหน่งไปตามเข็มนาฬิกาเพื่อเปลี่ยนคนไปเสิร์ฟ กล่าวคือ ผู้เล่นตำแหน่งที่ 2 ต้องหมุนลงมาตำแหน่งที่ 1 เพื่อเสิร์ฟ และตำแหน่งอื่นๆต้องหมุนตามมาเช่นกัน คือ 2>1>6>5>4>3>2 (ดังรูป)
  • เปลี่ยนแดนเมื่อจบแต่ละเซ็ต ส่วนเซ็ตที่ 5 หรือเซ็ตตัดสินจะเปลี่ยนแดนเมื่อทีมใดทีมหนึ่งถึงคะแนนที่ 8 ก่อน

การนับคะแนนในเกม[แก้]

กำหนดจำนวนเซ็ต (Set) เพื่อตัดสินทีมที่ชนะการแข่งขัน โดยมักกำหนดไว้ที่ชนะ 3 ใน 5 เซ็ต ยกเว้นในบางการแข่งขันที่กำหนดเองเฉพาะกิจ
  • เซ็ตที่ 1 ถึงเซ็ตที่ 4 ทีมใดทำได้ 25 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 24-24 จะต้องเล่นต่อไป เรียกว่า ดิวซ์ (Deuce) จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบเซ็ต
  • เซ็ตที่ 5 ซึ่งเป็นเซ็ตตัดสินผู้ชนะการแข่งขัน ทีมที่ทำได้ 15 คะแนนก่อน จะเป็นฝ่ายชนะในเซ็ตนั้น แต่ถ้าคะแนนเสมอกันที่ 14-14 จะต้องเล่นดิวซ์ จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่าย 2 คะแนน จึงจะจบการแข่งขัน[2]

การให้คะแนนจากนัดที่แข่งขัน[แก้]

ในรายการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับลีก (League) หรือทัวร์นาเมนต์ต่างๆ เช่นการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่ม จะมีการคิดคะแนนจากผลการแข่งขันในแต่ละนัดที่แข่งขัน (Match) เพื่อตัดสินทีมที่อันดับดีที่สุด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการคิดคะแนนที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนี้
  • ได้ 3 คะแนนต่อนัด เมื่อ ชนะ 3–0 เซ็ต หรือ 3–1 เซ็ต
  • ได้ 2 คะแนนต่อนัด เมื่อ ชนะ 3–2 เซ็ต
  • ได้ 1 คะแนนต่อนัด เมื่อ แพ้ 2–3 เซ็ต
  • ไม่ได้คะแนน เมื่อ แพ้ 0–3 เซ็ต หรือ 1–3 เซ็ต
อนึ่ง ในบางรายการจะตัดสินทีมที่อันดับดีกว่าโดยดูจากจำนวนนัดที่ชนะก่อนจะดูจากคะแนนที่ได้ และหากหลายทีมมีคะแนนเท่ากัน ก็จะใช้ค่าเพิ่มเติมมาตัดสินอันดับ คือ
  • อัตราส่วนเซ็ตที่ได้ต่อเซ็ตที่เสียจากทุกนัด
  • อัตราส่วน คะแนนที่ได้ในเกมต่อคะแนนที่เสียในเกมจากทุกนัด
  • cr. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%A5

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เปตอง

ตะกร้อ